PISA

PISA คืออะไร

PISA เป็นชื่อย่อของ Programmed for International Student Assessment เป็นโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ปัจจุบันนี้มีประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการมากกว่า 70 ประเทศ

ในปลายทศวรรษที่ 1990 ประเทศสมาชิกของ OECD มีความคิดที่จะหาวิธีประเมินว่า เด็กอายุ 15 ปีทั่วโลก มีความพร้อมที่จะอยู่ร่วมในสังคมเพียงใด

เหตุที่ PISA เลือกเด็กอายุ 15 ปี แทนที่จะเป็นเด็กอายุ 12 หรือ 17 เพราะเป็นอายุที่เด็กกำลังจะจบการศึกษาภาคบังคับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั่วโลก ช่วยกันสร้างวิธีทดสอบที่ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งมุ่งเน้นการวัดผลใน 3 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ประเทศสมาชิกตัดสินใจที่จะจัดการทดสอบนี้ ทุก 3 ปี และมีการสับเปลี่ยนจุดมุ่งเน้นในการทดสอบใน 3 วิชาหลัก

PISA ประเมินสมรรถนะที่เรียกว่า Literacy ซึ่งในที่นี้จะใช้คำว่า “การรู้เรื่อง” และ PISA เลือกประเมินการรู้เรื่องในสามด้าน ได้แก่ การรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy)

ข้อสอบของ PISA มีความน่าสนใจและท้าทาย โดยมีหลากหลายสถานการณ์ในชีวิตจริงให้นักเรียนอ่าน แต่ละสถานการณ์อาจมีหลายคำถามและหลากหลายรูปแบบในการตอบคำถาม เช่น เลือกตอบ เขียนตอบสั้น ๆ และเขียนอธิบายในการประเมินที่ผ่านมา นักเรียนจะทำข้อสอบในเล่มแบบทดสอบ

ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA เป็นระบบสารสนเทศที่เผยแพร่ข้อสอบที่ OECD อนุญาตให้เผยแพร่ และข้อสอบที่พัฒนาโดย สสวท.